[รีวิว] PC Creator: ลองเป็นช่างคอมสักครั้ง จะได้รู้ว่ายากหรือง่าย?!
เชื่อว่าหลายต่อหลายท่านที่สนใจในความเป็นไอที ย่อมมีความฝันอย่างหนึ่งที่อยากทำก็คือ การเปิดร้านค้าอุปกรณ์ไอที หรือร้านค้ารับซ่อมคอมพิวเตอร์สักครั้งหนึ่งในชีวิต จะเป็นร้านเล็ก ๆ หรือร้านใหญ่ ๆ ให้ได้พัฒนาฝีมือ หรือไม่ก็เป็นอีกช่องทางในการรับรายได้เข้ากระเป๋าเงินตัวเราเอง จะจ๊อบเล็ก จ๊อบใหญ่ ก็ไม่เกี่ยง ขอให้ได้แสดงความสามารถผ่านการซ่อมหรือประกอบคอมสักเครื่องหนึ่งก็ยังดี
แต่ก็ยังมีหลายท่านที่ยังเลใจอยู่ว่า เอ… เราอยากเปิดร้านคอมพิวเตอร์จริง ๆ หรือแค่คิดไปเอง หรือเรามีทักษะที่มากพอแล้วหรือยัง ไม่ต้องเสียเวลาคิดให้ยากเลยครับ ครั้งนี้ #beartai ขอแนะนำแอปเกมที่สามารถสวมวิญญาณเป็นเจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ได้ง่าย ๆ เรียนรู้การประกอบคอม พร้อมทั้งฝึกการบริหารจัดการร้านไปด้วยในตัว กับเกม PC Creator
เกม PC Creator นี้ เป็นเกมแนวจำลองสถานการณ์ หรือ Simulator โดยตัวเราจะได้รับบทเป็นเจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ร้านเล็ก ๆ ที่เพิ่งเปิดใหม่ และต้องรับออเดอร์จากลูกค้ามากหน้าหลายตา ทั้งงานประกอบพีซีเครื่องใหม่ตามความต้องการ หรือทำการซ่อมแซม ปรับเปลี่ยนอะไหล่ให้ตรงตามสเปกที่ลูกค้าต้องการ
โดยเริ่มแรก จะมีเงินให้ตั้งตัวจำนวนหนึ่ง และจะเริ่มมีออเดอร์สั่งประกอบคอมพิวเตอร์เข้ามา ให้เรากดรับออเดอร์นั้นก่อนเป็นอันดับแรก และศึกษาให้ดี ๆ ว่าลูกค้าต้องการอะไรที่เป็นพิเศษบ้าง เช่น ขอแรม DDR4 ขนาดความจุ 16 กิกะไบต์, ขอการ์ดจอรุ่น RTX 1080 หรือแม้แต่ให้จัดประกอบแบบไหนก็ได้ ขอให้ผ่านการทดสอบ (Benchmark) และได้คะแนนมากกว่าที่ได้ระบุไว้ อย่างออเดอร์แรกที่เห็นนี้ ลูกค้าขอเมนบอร์ดที่สามารถใส่ซีพียูประเภท LGA 1151 ได้ (พูดง่าย ๆ คือซีพียูของเอเอ็มดีนั่นแหละ…), ต้องมีแรมมากกว่า 8 กิกะไบต์, ใส่ SSD ลงไปด้วย และต้องลงไดรฟ์เวอร์ที่เป็นเวอร์ชันใหม่ด้วย
เมื่อรับออเดอร์มาแล้ว แน่นอนว่าเรายังไม่มีอะไหล่หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องการ เราก็ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์จากหน้าเว็บไซต์ ซึ่งในแต่ละชิ้นส่วน เช่น ซีพียู, แรม, ฮาร์ดดิสก์, ฯลฯ จะมีการระบุสเปกให้อย่างชัดเจนว่ามีขนาดเท่าไหร่ ความจุเท่าไหร่ หรือใช้ไฟเท่าไหร่ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ แต่ละอุปกรณ์ที่ปรากฏในเกม ๆ นี้ ล้วนมียี่ห้อที่คล้ายคลึงกับในโลกแห่งความเป็นจริงเสียเหลือเกิน อย่างซีพียู Intel แปลงเป็น Intol, เมนบอร์ดของ Asrock เปลี่ยนชื่อเป็น Asrook หรือแม้แต่การ์ดจอของ Gigabyte ก็แปลงชื่อเป็น Gigabate
แต่ก็เข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าต้องเลี่ยงการใช้ชื่อผลิตภัณฑ์จริง ๆ เพื่อเลี่ยงการถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ในอนาคต (แต่ว่ากันตรง ๆ ครับ เลี่ยงยังไงก็เลี่ยงไม่สุดอยู่ดี คนเขาดูออกแหละครับ…)
ถึงแม้ว่าจะเลี่ยงการใช้ยี่ห้อแบบตรง ๆ แต่ก็มีบางสิ่งที่ใช้ชื่อแบบตรง ๆ ได้เลยเช่นกัน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์และแมคโอเอส ที่ลงชื่อซะตรงเผง หรือแม้แต่โปรแกรมแอนตี้ไวรัส ก็สะกดแบบถูกต้องพร้อมโลโก้ที่ไม่ดัดแปลงอีกด้วย
หลังจากที่กดสั่งซื้ออุปกรณ์จากหน้าเว็บในเกมแล้ว ถึงคราวที่ได้ประกอบเครื่องตามที่ลูกค้าได้ส่งรายละเอียดมา เราก็จัดเรียงอุปกรณ์ตามลำดับที่ได้กำหนดไว้ในเกมนี้เลยครับ ไล่เรียงตั้งแต่เมนบอร์ด ซีพียู (อย่าลืมทาซิลีโคนด้วยละ) แรม ฮาร์ดดิสก์ การ์ดจอ พัดลมซีพียู พาวเวอร์ซัปพลาย และปิดท้ายที่เคส เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็อย่าลืมลงระบบปฏิบัติการและโปรแกรมเสริมต่าง ๆ ซึ่งสามารถลงได้ตั้งแต่เกม, แอนตี้ไวรัส (ซึ่งเราต้องซื้อจากเว็บร้านในเกมก่อนนะ) และโปรแกรมทดสอบ หรือแม้แต่เว็บเบราว์เซอร์ หรือเกมต่าง ๆ อย่าง GTA, PUBG หรือ Fortnite ซึ่งบอกก่อนว่าแต่ละอย่างที่ลงไปนั้นไม่ใช่ลงเล่น ๆ แล้วใช้งานไม่ได้เลย สามารถใช้งานได้จริงและเล่นได้จริงนะครับ อย่างเบราว์เซอร์ที่ปรากฏในเกมนี้ก็เป็นเบราว์เซอร์ Google Chrome ติดตั้งแล้ว เข้าเปิดหน้าเว็บได้เสมือนเปิดเครื่องจริง ๆ เลยละ (ถ้าจะใช้แอปเกมนี้เป็นการสร้างเครื่องจำลองขึ้นมาสักเครื่องก็คงไม่ผิดอะไรมากนัก สำหรับผู้ที่มีโลกสองใบ…)
และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งเครื่องให้กับลูกค้าที่สั่งไว้ และเราจะได้ค่าตอบแทนและค่าประสบการณ์กลับมา ค่าตอบแทนที่ได้มานี้แหละ สามารถนำไปสั่งซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมได้ หรือแม้แต่ขยับขยายตัวร้าน ขยายโต๊ะทำงาน และขยายโต๊ะวางริกขุดบิตคอยน์อีกด้วย ส่วนค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ๆ เมื่อถึงเลเวลที่กำหนดไว้ เราก็จะได้ของตอบแทนกลับมาอีกด้วย
พูดถึงบิตคอยน์ ในเกมนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแค่ประกอบคอมให้ได้ตามสเปกขั้นต่ำของการทำริกขุดบิตคอยน์ ว่าง่าย ๆ ก็คือ ใช้การ์ดจอตั้งแต่รุ่น RTX 1080 ขึ้นไป มาประกอบเข้ากับเคส เมนบอร์ด แรม ซีพียู และฮาร์ดดิสก์ เท่านี้ก็สามารถขุดบิตคอยน์ที่อยู่ในเกมได้อย่างสบาย ๆ โดยตัวเงินบิตคอยน์ที่ปรากฏในเกมนี้ เป็นตัวเงินสมมติ ไม่ได้อิงจากราคาบิตคอยน์ ณ ปัจจุบันครับ
ขุดได้เท่าไหร่ จะเอามาแปลงเป็นเงินเข้าร้านก็ได้ หรือถ้ามีเงินในร้านมากพอแล้วอยากแปลงเป็นบิตคอยน์ ก็แปลงได้เช่นกัน ซึ่งเงินบิตคอยน์ที่ได้มานี้ ยังสามารถใช้ซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์บางชิ้นได้เช่นกัน
บางครั้งการเป็นเจ้าของร้านที่เถรตรงและซื่อสัตย์ต่อลูกค่าก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่เช่นกัน ในเกมนี้ นอกจากให้คุณสั่งซื้ออุปกรณ์ผ่านหน้าเว็บจำลองได้นั้น ยังมีอีกเว็บที่ทีมงานขอใช้คำว่า Dark Net หรือเว็บตลาดมืด สำหรับจำหน่ายอุปกรณ์บางชิ้นที่มีความละม้าย หรือการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน แถมยังจัดส่งไว และราคาถูกกว่าหลายเท่าตัวอีกด้วย ซึ่งเราสามารถสั่งซื้อมาแล้วประกอบลงไปให้กับลูกค้าได้ แต่… มีข้อควรระวังเพียงอย่างเดียวคือ อาจจะเกิดปัญหาระหว่างการใช้งานได้ หลังจากที่ประกอบเสร็จแล้ว ฉะนั้นแล้วต้องพิจารณาให้ดี ๆ ก่อนว่าจะซื้ออุปกรณ์จากเว็บกลาง หรือเว็บตลาดมืดดีกว่ากัน
อีกอย่างที่เราจะได้เจอ คือการเสนอสัญญาให้เซ็น โดยทำการประกอบคอมพิวเตอร์ตามที่ในสัญญาได้ระบุไว้ ประกอบได้ตามที่กำหนดไว้ เราก็จะได้รับค่าตอบแทนกลับมา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในสัญญานั้นได้กำหนดให้เราประกอบขึ้นมากี่เครื่อง แต่เราไม่มีทางรู้ก่อนได้ว่าค่าตอบที่จะได้มาหลังจบสัญญา เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
นอกจากประกอบคอมตามออเดอร์ลูกค้า, ซ่อมและปรับเปลี่ยนอุปกรณ์, ประกอบเซ็ตขุดบิตคอยน์ เรายังสามารถประกอบคอมขึ้นมาแล้วเอาไปขายต่อ เพื่อนำเงินกลับมาเข้าร้านได้อีกด้วย
จริง ๆ แล้ว อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏในเกมมีมากมายเลยครับ บางชิ้นซื้อได้ในราคาถูก ๆ บางชิ้นก็แพงแสนแพง และยังมีบางชิ้นที่เป็น Rare Item อีกด้วย กล่าวคือ เราซื้อชิ้นนั้นไม่ได้หรอกครับ แต่ต้องแลกกับการหมุนวงล้อสุ่มอุปกรณ์นั่นเอง ง่าย ๆ เลยก็คือ ดูโฆษณาเพื่อแลกกับสิทธิ์ในการสุ่มอุปกรณ์ อุปกรณ์ที่ให้สุ่มก็เยอะแยะพอสมควร ขึ้นอยู่กับว่าจะสุ่มได้ชิ้นไหนเข้ามาในร้านของเรา (ทีมงานเคยลองสุ่มสักรอบสองรอบ ยังได้เคสแมคโปรมาครอบครองเลยนะ)
ถามว่าเกมนี้ยากง่ายประมาณไหน ถือว่ากลาง ๆ ครับ สำหรับผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มีมากกว่านั้นครับ การประกอบคอมพิวเตอร์สักเครื่องหนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่การเลือกหยิบอุปกรณ์อะไรก็ได้มาใส่แล้วให้กลายเป็นเครื่องหนึ่งเครื่องที่พร้อมใช้งาน เรายังต้องเรียนรู้อีกว่าแต่ละอุปกรณ์มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร อย่างเมนบอร์ด ก็ต้องมาดูว่าเป็นเมนบอร์ดที่เลือกมา รองรับซีพียูแบบไหน ใส่แรมแบบไหนได้และมากสุดเท่าไหร่ มี PCI Slot เท่าไหร่ ใช้พาวเวอร์ซัปพลายได้ต่ำสุดเท่าไหร่ และอีกมากมายหลายอย่าง คนที่ไม่เป็นคอมพิวเตอร์อาจจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ คนที่มีความชำนาญอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้ไปด้วยในตัว และฝึกทักษะความชำนาญในการจัดสเปกและประกอบคอมพิวเตอร์ แต่เหนือสิ่งอื่นได้สำหรับเกมนี้ คือการได้ลงมือประกอบคอมจริง ๆ ขึ้นมาสักเครื่องนี่แหละครับ ในเกมถือเป็นการซ้อม แต่ในชีวิตจริงต้องลองประกอบดูครับ แล้วจะเข้าใจความเป็นนักประกอบคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง
แต่บอกก่อน… ในแอปมี In-App Purchase แอบแฝงด้วยนะ ในกรณีที่อยากได้ของบางชิ้นที่เป็น Rare Item, อยากเพิ่มทักษะแบบก้าวกระโดด หรือต้องการหมุนเงินให้ทันใช้ ในกรณีที่ใช้เงินในเกมหมดลงจนไม่เหลือแม้แต่แดงเดียว…
Write a Comment